Prague Spring (-)

ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (-)

ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก หมายถึง ช่วงสมัยของการปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกีย ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ซึ่ง กินเวลาเกือบ ๘ เดือน การปฏิรูปเริ่มขึ้นเมื่ออะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สโลวักได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เขโกสโลวัก (Czechoslovak Communist Party-CCP) แทนอันโตนิน นอวอตนี (Antonin Novotný)* ผู้นำหัวเก่าที่นิยมสตาลินในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ การขึ้นสู่อำนาจของดูบเชกได้นำไปสู่สมัยของการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิบัโตยทางด้านต่าง ๆ การปฏิรูปของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งจากประชาชนในประเทศและประเทศตะวันตกซึ่งคาดหวังว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization-WTO)* โดยเฉพาะโปแลนด์และเยอรมนีตะวันออกต่อต้านอย่างมากในเวลาต่อมา สหภาพโซเวียตได้ล่งกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอบุกเชโกสโลวะเกียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เพื่อบังคับให้ดูบเชกยุติการปฏิรูปประเทศ

 ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปรากเป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายค้านภายในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชกเป็นผู้นำ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองในกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ ขณะเดียวกัน กลุ่มปัญญาชนและนักเขียนซึ่งมีกุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak)* คอมมิวนิสต์แนวอนุรักษเสรีนิยมเป็นแกนนำก็เคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองเผด็จการของอันโตนิน นอวอตนี ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เชโกสโลวักอย่างต่อเนื่อง แม้นอวอตนีพยายามใช้มาตรการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดและใช้ตำรวจลับและทหารเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหว แตกประสบความสำเร็จไม่มากนัก กระแสการต่อต้านนอวอตนีขยายตัวอย่างรวดเร็วในวงกว้างทั้งภายในและภายนอกพรรคคอมมิวนิสต์คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักจึงประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและมีมติให้ปลดนอวอตนี ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งดูบเชกเป็นเลขาธิการแทน เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ การก้าวสู่อำนาจของดูบเชกได้นำไปสู่ช่วงสมัยของการปฏิรูปประเทศที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก” ดูบเชก ชูคำขวัญ “สังคมนิยมที่มีใบหน้ามนุษย์” (Socialism with a Human Face) ซึ่งหมายถึงการปรับระบอบสังคมนิยมให้มีความยืดหยุ่นและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนการค้ากับประเทศตะวันตกโดยไม่ต้องการทำลายล้างระบอบสังคมนิยมแต่อย่างใด เขาได้เชิญฮูซากซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะนักปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยเข้าร่วมในคณะรัฐบาลและคนทั้งสองร่วมกันร่างนโยบายการปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยยึดโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์จัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๗ (แต่ไม่ได้ดำเนินการ) เป็นหลักต่อมา ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ นายพลลุดวิก สวอบอดา (Ludvik Svoboda) วีรบุรุษสงครามซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทนนอวอตนีที่ถูกบีบบังคับให้ลาออกก็ให้ความเห็นชอบนโยบายปฏิรูปที่ดูบเชกและฮูซากเสนอ

 ดูบเชกตระหนักดีว่าในการจะผลักดันนโยบายปฏิรูปให้บรรลุผล เขาต้องมีฐานอำนาจทางการเมืองและสังคมที่แข็งแกร่ง เขาจึงสนับสนุนบรรดาคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงานของพรรคและอ้างว่านโยบายการปฏิรูปของเขาส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของสมาชิกพรรคระดับต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาต้องเร่งดำเนินการโดยไม่ได้หารือกับสหภาพโซเวียตก่อน ขณะเดียวกันเขาได้ยกเลิกกฎหมายการเซนเซอร์ ค.ศ. ๑๙๖๖ และให้หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งปัญญาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ รวมทั้งอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้ สื่อมวลชนและประชาชนซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปของเขาอย่างมากจึงเป็นฐานอำนาจที่สำคัญของดูบเชกในการดำเนินนโยบายปฏิรูปหนังสือพิมพ์ยังขุดคุ้ยการฉ้อฉลในระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีนอวอตนีและบุตรชาย รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและสมาชิกพรรคระดับสูงที่เกี่ยวพันกับการกล่าวหารูดอล์ฟ สลันสกี (Rudolf Slánský)* ในทศวรรษ ๑๙๕๐ ดูบเชกจึงเห็นเป็นโอกาสขับฝ่ายตรงข้ามเขาออกจากพรรคและประกาศกู้เกียรติบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองในสมัยนอวอตนีให้กลับสู่สถานภาพเดิมทางสังคม ทั้งคํ้าประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเรือนและเสรีภาพส่วนบุคคล ตลอดจนการลดอำนาจและบทบาทของพรรคในการจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการอื่นที่ไม่ใช่กิจการของพรรคโดยตรง

 เสรีภาพทางความคิดเห็นที่เบ่งบานในเชโกสโลวะเกีย ทำให้วลาดิสลัฟ โกมุสกา (Wladyslaw Gomulka)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ และวัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)* ผู้นำพรรคเอกภาพสังคมนิยม (Socialist Unity Party) แห่งเยอรมนีตะวันออกหวาดวิตกเพราะเกรงว่ากระแสการปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียจะเป็นเชื้อโรคร้ายที่ลุกลามเข้ามาในประเทศ ผู้นำทั้ง ๒ ประเทศ จึงผลักดันใทัมีการประชุมของประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอที่เมืองเดรสเดิน (Dresden) เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ ในเชโกสโลวะเกีย แม้จะไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการประชุมและบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างฉันมิตร แต่ดูบเชกก็บอกเล่าในเวลาต่อมาว่าผู้นำประเทศสังคมนิยมทั้ง ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย โกมุลกา อุลบริชท์ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* แห่งสหภาพโซเวียต ยานอช คาดาร์ (János Kadar)* แห่งฮังการี และโทดอร์ จิฟคอฟ (Todor Zhivkov)* แห่งบัลแกเรียต่างวิจารณ์โจมตีเรื่องการให้เสรีภาพทางความคิดในเชโกสโลวะเกียซึ่งเป็นปัจจัยของการก่อตัวของฝ่ายต่อด้านการปฏิวัติที่จะนำไปสู่การคุกคามค่ายสังคมนิยมนอกเชโกสโลวะเกีย ดูบเชกให้สัญญากับผู้นำประเทศสังคมนิยมทั้ง ๕ คนว่าการปฏิรูปของเขาจะอยู่ในขอบเขตของกิจการภายในประเทศเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในฮังการี ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งอิมเร นอจ (Imre Nagy)* ผู้นำฮังการีขณะนั้นได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนจนนำไปสู่การต่อต้านสหภาพโซเวียตในเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ (Hungarian Uprising 1956)* การปฏิรูปของเขาเป็นเพียงการปรับระบอบสังคมนิยมให้เป็นประชาธิปไตยและมีมนุษยธรรมมากขึ้นเท่านั้น และไม่มีจุดมุ่งหมายจะทำลายล้างระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักจัดทำ “แผนปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์” (Action Program of the Communist Party) เสร็จก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าการปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกลุ่มประเทศสังคมนิยม แต่อย่างใด

 ในวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๘ พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักพิมพ์เผยแพร่แถลงการณ์แผนปฏิบัติการ (Manifesto of The Action Program) ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะสร้างระบอบสังคมที่มีใบหน้ามนุษย์ เนื้อหาแถลงการณ์มี ๕ บท ประกอบด้วย ๑) เชโกสโลวะเกียบนเส้นทางสังคมนิยม ๒) พัฒนาการของประชาธิปไตยสังคมนิยม ๓) เศรษฐกิจของประเทศและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน ๔) พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ๕) สถานภาพทางสากลของเชโกสโลวะเกียและนโยบายต่างประเทศ แต่ละบทจะมีหัวข้อย่อยเรื่องต่าง ๆ ที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานและเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ บทแรกคือหัวใจของแผนปฏิบัติการเพราะให้ภูมิหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศนับตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ จนถึงช่วงการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเชโกสโลวะเกีย (People’s Democratic Republic of Czechoslovakia) เป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia Socialist Republic) ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ ซึ่งถือว่าเชโกสโลวะเกียเป็นประเทศแรกในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศบนเส้นทางสังคมนิยมและกำลังเริ่มยุคใหม่ของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบสังคมนิยม ไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ที่จะนำไปสู่การสูญสลายของรัฐและชนชั้น แต่ปัญหาความล้าหลังของนโยบายเศรษฐกิจจากการควบคุมและกำหนดจากส่วนกลาง รวมทั้งแนวทางการปกครองที่เข้มงวดทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมมีอุปสรรคและชนชั้นแรงงานไม่ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการทำงานเพื่อส่วนรวมเต็มที่ การปฏิรูปตามแผนปฏิบัติการจึงเป็นสิ่งจำเป็น พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเดิมมีบทบาทนำในฐานะเป็นเครื่องมือของการปกครองแบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพจะมีบทบาทเป็นเพียงเครื่องมือหลักในการกระตุ้นผลักดันสัญชาตญาณสังคมนิยมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพในการจะสร้างสรรค์สังคมทางด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม กล่าวอีกนัยหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีบทบาทหลักในการชี้นำทางสังคม แต่จะคำนึงถึงความต้องการของสังคมโดยรวมและอำนาจที่รวมศูนย์โนกลุ่มแกนนำจะกระจายสู่องค์การพรรคทุกระดับรวมทั้งสมาชิกระดับต่าง ๆ เพื่อให้ร่วมกันผลักดันการปฏิรูปให้บรรลุผลซึ่งรวมเวลา ๑๐ ปี

 หลังการประกาศแผนปฏิบัติการไม่ถึงสัปดาห์ประธานาธิบดีเบรจเนฟแห่งสหภาพโซเวียตก็ส่งจดหมายถึงดูบเชกแสดงความไม่พอใจต่อแผนปฏิรูปและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวัก โดยไม่ได้ปรึกษาสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตยังกดดันดูบเชกด้วยการประกาศเปลี่ยนสถานที่และเลื่อนการซ้อมรบกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอซึ่งเดิมกำหนดไว้ที่ป่าแถบโบฮีเมีย (Bohemia) ในเดือนกันยายน มาเป็นบริเวณพรมแดนเชโกสโลวะเกียในเดือนมิถุนายนแทน ท่าทีของสหภาพโซเวียตแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสหภาพโซเวียตต่อต้านการปฏิรูปของดูบเชก ดูบเชกไม่ตอบโต้ความไม่พอใจของสหภาพโซเวียต และเริ่มดำเนินการปฏิรูปอย่างรวดเร็วด้วยการให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมเคลื่อนไหว เสรีภาพในการนับถือศาสนา รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกการพยุงราคาสินค้า โดยปล่อยให้ราคายืดหยุ่นตามกลไกตลาด ทั้งมีการให้รางวัลและโบนัสตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ นอกจากนี้เขายังลดอำนาจของหน่วยตำรวจลับและอนุญาตให้ประชาชนเดินทางในประเทศและออกนอกประเทศได้ รวมทั้งวางพื้นฐานแนวทางการปกครองที่เท่าเทียมกันในอนาคตระหว่าง เช็กกับสโลวัก ตลอดจนเสนอแนะความเป็นไปได้ทางการเมืองที่จะให้รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดในการบริหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์จะตัดสินและกำหนดเฉพาะนโยบายสำคัญ ๆ ทั้งรัฐบาลอาจมาจากหลายพรรคการเมืองได้ด้วย

 อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชนซึ่งเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียตและปัญญาชนก็รวมกลุ่มจัดตั้งชมรมหรือสโมสรทางการเมือง กลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์เรียกร้องให้ดูบเชกใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมทางสังคม แต่เขาปฏิเสธและยืนยันว่าพรรคเพียงจะทำหน้าที่ชี้นำนโยบายและกำกับดูแลการปฏิรูปให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ดูบเชกยังประกาศจะเรียกประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๑๔ ให้เร็วขึ้นก่อนกำหนดเป็นวันที่ ๙ กันยายน เพื่อพิจารณาแผนปฏิป้ติการเป็นส่วนหนึ่งของหลักนโยบายพรรค การร่างกฎหมายสหพันธ์สาธารณรัฐ และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลางพรรคชุดใหม่ ต่อมา ในปลายเดือนมิถุนายน ลุดวิก วาคูลิก (Ludvik Vaculik) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงได้จัดพิมพ์แถลงการณ์ที่เรียกว่า “The Two Thousand Words” วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีองค์ประกอบของความล้าหลังภายในพรรคทั้งมีกองกำลังต่างชาติซึ่งหมายถึงสหภาพโซเวียตควบคุมอยู่เบื้องหลัง วาคูลิกเรียกร้องให้ประชาชนจัดตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชนขึ้นเพื่อผลักดันการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งให้จัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ซึ่งถูกยุบ ใน ค.ศ.๑๙๔๗ ขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นพรรคการเมืองแนวเสรีประชาธิปไตย แถลงการณ์ของวาคูลิกเป็นแผนปฏิรูปที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่รุนแรงกว่าแผนปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งชี้แนะว่าเชโกสโลวะเกียควรดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ดูบเชกและแกนนำโปลิตบูโรไม่ยอมรับแถลงการณ์ฉบับนี้

 ในช่วงเดียวกัน สหภาพนักเขียน (Writers’ Union) ก็มีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ซึ่งล้วนเป็นพวกนักเขียนหัวก้าวหน้า เอดูอาร์ด โกลด์สตุกเกอร์ (Eduard Goldstücker) นายกสหภาพนักเขียนซึ่งเป็นนักวิชาการและนักเขียนหัวปฏิรูปได้เปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหารและกองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ของสหภาพนักเขียนที่หัวเก่าและจงรักภักดีต่อนอวอตนีเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Literarni noving เป็น Literarni Usty นิตยสารใหม่นี้ไม่มีการเซนเซอร์ และเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิรูปและการเรียกร้อง


ประชาธิปไตยทางสังคม ทั้งเปิดโอกาสให้มีการนำเสนองานศิลปะวรรณกรรมทุกประเภทอย่างอิสระโดยไม่ต้องยึดมั่นหลักการสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* ดังที่เคยเป็นมา โกลด์สตุกเกอร์ยังร่วมมือกับสหภาพนักหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์เรียกร้องให้มีการขุดคุ้ยและตรวจสอบเหตุการณ์ที่นักเขียนถูกเข่นฆ่าและต้องขังหลังการยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ทั้งเปิดโปงประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงสมัยการปกครองอันเหี้ยมโหดของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต บทบาทของสหภาพนักเขียนได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์สถานภาพของรัฐคอมมิวนิสต์และประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและอื่น ๆ ประชาชนจึงได้รับรู้ข่าวสารมากขึ้นและต่างตื่นตัวทางการเมืองทั้งสนับสนุนกลุ่มปัญญาชนให้เคลื่อนไหวผลักดันความเป็นประชาธิปไตยทางด้านต่าง ๆ มากขึ้น การเปิดกว้างเรื่องเสรีภาพทางความคิดยังทำให้กรรมกรเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปลดเจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่ต่อต้านการปฏิรูปและปรับระบบการดำเนินงานให้เป็นประชาธิปไตย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๘ การชุมนุมประท้วงของกรรมกรเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นทั่วไป ฝ่ายบริหารและตำรวจไม่กล้าใช้กำลังเข้าปราบปรามเหมือนเช่นที่ผ่านมาซึ่งทำให้กระแสการปฏิรูปขยายตัวและมีพลังมากขึ้น

 เมื่อการชุมนุมประท้วงของกรรมกรที่เริ่มขึ้นในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๖๘ ขยายตัวไปทั่วประเทศ ดูบเชกพยายามควบคุมสถานการณ์เพราะเกรงว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมอาจบานปลายและนำไปสู่ความวุ่นวายและเหตุการณ์ร้ายในสังคม แต่เขาก็ไม่สามารถควบคุมกระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ กลุ่มสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ๕ ประเทศซึ่งหารือกันที่กรุงวอร์ซอเกี่ยวกับสถานการณ์ในเชโกสโลวะเกียจึงมีบันทึกที่เรียกกันต่อมาว่า “จดหมายจากวอร์ซอ” (Warsaw Letter) ถึงคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักกล่าวเดือนว่าเชโกสโลวะเกียกำลังถูกคุกคามจากพวกปฏิกิริยาที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายจักรวรรดินิยมซึ่งจะบ่อนทำลายความมั่นคงของระบอบสังคมนิยมทั้งหมด และอาจทำให้เชโกสโลวะเกียแตกแยกจากเครือจักรภพสังคมนิยม ทั้ง ๕ ประเทศในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงคาดหวังว่าพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักจะมีมติใช้มาตรการปกป้องและต่อต้านฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติและกองกำลังที่ต่อต้านสังคมนิยม ยุบเลิกองค์การต่าง ๆ ที่ต่อต้านสังคมนิยมและเข้าควบคุมสื่อมวลชน รวมทั้งนำหลักการระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ (democratic centralism) กลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง มีการเตือนดูบเชกให้ตระหนักถึงเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตอบยืนยันสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอทั้ง ๕ ประเทศว่านโยบายต่างประเทศของเชโกสโลวะเกียยังคงผูกติดกับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ และพรรคยืนยันว่ากิจการภายในประเทศไม่ได้มุ่งทำลายระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อสหภาพโซเวียตด้วย

 อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเชโกสโลวะเกียกับประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอก็ไม่ได้พัฒนาขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๙ กรกฎาคมถึง ๑ สิงหาคม มีการเจรจาระดับสูงระหว่างผู้นำและตัวแทนหลายครั้งเกี่ยวกับการปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียและบทบาทที่ควรจะเป็นไปของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวัก แต่การเจรจาก็ไม่บรรลุความเข้าใจใด ๆ ระหว่างกัน ดูบเชกปฏิเสธที่จะถอดถอนผู้นำหัวปฏิรูปหลายคนออกจากตำแหน่งและยืนยันที่จะปฏิรูปต่อไป โปแลนด์ ฮังการี เยอรมนีตะวันออก และสหภาพโซเวียตจึงประกาศว่าจะจัดการซ้อมรบทางทหารใกล้พรมแดนเชโกสโลวะเกีย ซึ่งมีนัยว่าการบุกเชโกสโลวะเกียอาจเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า ต่อมาในวันที่ ๓ สิงหาคมประเทศองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเกือบทุกประเทศยกเว้นโรมาเนียประชุมหารือที่เมืองบราติสลาวา (Bratislava) มีการออกคำประกาศบราติสลาวา (Bratislava Declaration) ยืนยันความเชื่อมั่นในหลักการลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) และลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ (Pro-letarian Internationalism) และการประกาศต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อต่อต้านอุดมการณ์กระฎุมพีและพลังที่ต่อต้านสังคมนิยมทั้งมวล สหภาพโซเวียตยังประกาศเจตนารมณ์ ที่จะใช้กองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเข้าแทรกแซงในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อปราบปรามศัตรูของระบอบสังคมนิยมและเพื่อปกป้องความมั่นคงของระบอบสังคมนิยม คำประกาศของสหภาพโซเวียตจึงเป็นที่มาของหลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* ในเวลาต่อมา

 คำประกาศบราติสลาวาทำให้ดูบเชกเริ่มหวาดวิตกต่อการคุกคามของสหภาพโซเวียต ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ดูบเชกและกลุ่มที่สนับสนุนเขาเสนอร่างของหลักนโยบายพรรคฉบับใหม่ที่จะนำไปพิจารณาในการประชุมวาระพิเศษของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ สาระสำคัญของหลักนโยบายมิความทันสมัยและก้าวหน้ากว่าแผนปฏิบัติการโดยแยกบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานพรรคและรัฐออกจากกันและกำหนดช่วงเวลาของการถือครองตำแหน่งของเจ้าหน้าที่พรรคและรัฐการเลือกตั้งสมาชิกพรรคทุกระดับเป็นการลงคะแนนลับและมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้นและอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ดูบเชกก็เชิญยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวียมาเยือนเชโกสโลวะเกียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและมีการจัดแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในวันที่ ๙ สิงหาคม เน้นหลักการความร่วมมือที่จะไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของรัฐสังคมนิยมอื่น ๆ ต่อมาในวันที่ ๑๕ กันยายน นิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceauşescu)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียซึ่งดำเนินนโยบายอิสระไม่ขึ้นต่อสหภาพโซเวียตก็มาเยือนกรุงปรากและร่วมลงนามในสนธิสัญญาระหว่างเชโกสโลวะเกียกับโรมาเนียว่าด้วยมิตรภาพความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Czechoslovak-Romania Treaty of Friendship, Cooperation and Mutual Aid) นโยบายของดูบเชกสร้างความขุ่นเคืองแก่สหภาพโซเวียตและประธานาธิบดีเบรจเนฟได้โทรศัพท์ถึงดูบเชกหลายครั้งเพื่อขอให้เขายุติการปฏิรูป แต่ดูบเชกปฏิเสธ

 ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ สิงหาคม คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตจัดประชุมเกี่ยวกับปัญหาของเชโกสโลวะเกียและพิจารณาคำร้องขอของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวัก ๕ คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับดูบเชกซึ่งมีจดหมายเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงด้วยข้ออ้างว่าความเป็นระเบียบมั่นคงของรัฐสังคมนิยมกำลังถูกคุกคามทำลาย อุลบริชท์ผู้นำเยอรมนีตะวันออกเรียกร้องอย่างเฉียบขาดให้สหภาพโซเวียตเร่งแก้ปัญหาด้วยการเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรง ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ที่ประชุมส่วนใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตซึ่งรวมทั้งยูรี อันโดรปอฟ (Yuri Andropov)* หัวหน้าตำรวจลับหรือเคจีบี (KGB)* และอะเล็กเซย์ โคซีกิน (Alexei Kosygin)* นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการใช้กำลังทหารบุกปราบปรามฝ่ายปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียโดยไม่คำนึงว่าการใช้กำลังครั้งนี้อาจนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งใหญ่ขึ้นได้ สหภาพโซเวียตกำหนดบุกเชโกสโลวะเกียในคืนวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลา ๑๑.๐๐ น. ตามเวลาในกรุงมอสโก และเรียกรหัสการบุกครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการดานูบ” (Operation Danube)

 เหตุผลสำคัญของสหภาพโซเวียตในการใช้กำลังทหารบุกเชโกสโลวะเกียคือ ผู้นำคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่หวาดวิตกว่าหากการปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียไม่ยุติลงจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิรูปต่าง ๆ ในรัฐบริวารโซเวียตซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบคอมมิวนิสต์การปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียจึงไม่เพียงเป็นภัยคุกคามทางอุดมการณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคุกคามด้านความมั่นคงทางทหารอีกด้วย นอกจากนี้ เชโกสโลวะเกียยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะตั้งอยู่ตรงใจกลางของรัฐบริวารโซเวียตโดยมีพรมแดนติดเยอรมนีตะวันตกและประเทศสังคมนิยม อีก ๔ ประเทศคือ เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเกรงว่าเชโกสโลวะเกียอาจเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* และจะเปิดทางให้องค์การนาโต เข้าถึงพรมแดนโซเวียตโดยตรงได้ง่าย ทั้งยังอาจแยกเยอรมนีตะวันออกกับโปแลนด์ออกจากประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอทางตอนใต้ได้ผู้นำโซเวียตหลายคนเห็นว่าการปล่อยให้เชโกสโลวะเกียเป็นอิสระทางเศรษฐกิจจะทำให้เชโกสโลวะเกียสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการค้ากับประเทศตะวันตก ซึ่งทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศยุโรปตะวันออกกับสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงจำเป็นต้องใช้กำลังทหารซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ดีที่สุดในการป้องปรามเชโกสโลวะเกีย

 ในคืนวันที่ ๒๐-๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ กองกำลังทหารประมาณ ๓๕๐,๐๐๐-๔๐๐,๐๐๐ คน และรถถังกว่า ๒,๐๐๐ คันจากประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ๔ ประเทศ คือ สหภาพโซเวียต บัลแกเรีย โปแลนด์ และฮังการีบุกข้ามพรมแดนทุกทิศทางเช้าสู่เชโกสโลวะเกีย โรมาเนียและแอลเบเนียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง กองทัพโซเวียตก็เข้าควบคุมและยึดเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญและปิดล้อมอาคารสถานที่ทำการของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลในกรุงปรากและเมืองต่าง ๆ ผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตติดต่อกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเช็กให้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้กองกำลังเช็กเคลื่อนกำลังซึ่งจะนำไปสู่การปะทะ ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตโซเวียตประจำกรุงปรากติดต่อประธานาธิบดีสวอบอดาให้ร่วมมือเพื่อปราบปรามฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในรุ่งสางของวันที่ ๒๑ สิงหาคม เชโกสโลวะเกียถูกยึดครอง ในช่วงการบุกของกองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ชาวเช็ก ๗๒ คนถูกสังหารซึ่ง ๑๙ คนอยู่ในสโลวาเกียมีผู้บาดเจ็บ ๔๓๖ คน และบาดเจ็บสาหัส ๒๖๖ คน ดูบเชกเรียกร้องประชาชนไม่ให้ต่อต้านเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะสูญเสียเลือดเนื้อ อย่างไรก็ตาม มีการต่อต้านประปรายตามท้องถนนและประชาชนปลดป้ายชื่อถนนบอกทางหรือทาสีทับยกเว้นป้ายชื่อบอกทางไปมอสโก หลายหมู่บ้านเปลี่ยนชื่อเป็น “ดูบเชก” หรือ “สวอบอดา” การต่อต้านในลักษณะดังกล่าวมีส่วนทำให้ฝ่ายบุกรุกต่างหลงทางและสับสนไม่น้อย

 การบุกของกองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอทำให้เชโกสโลวะเกียนับตั้งแต่วิกฤตการณ์มิวนิก ค.ศ. ๑๙๓๘ กลายเป็นข่าวใหญ่เป็นครั้งแรกที่ได้รับความสนใจของนานาประเทศ ช่างภาพ และนักถ่ายรูปท้องถิ่นทั่วประเทศบันทึกภาพการชุมนุมต่อต้านของประชาชนและวิธีการอารยะขัดขืนต่อผู้รุกรานเผยแพร่ไปทั่วโลกภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง ในสัปดาห์ต่อมา ภาพเรื่องราวดังกล่าวก็ถูกนำออกอากาศซํ้าแล้วซํ้าเล่าในประเทศต่าง ๆ การบุกเชโกสโลวะเกียจึงกลายเป็นลื่อโฆษณาชวนเชื่ออย่างดีของประเทศตะวันตกที่พยายามชี้นำว่าดูบเชกเป็นวีรบุรุษและเหยื่อทางการเมืองล่าสุดของสหภาพโซเวียตในการรุกรานเพื่อควบคุมยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ทั้งทำให้ประเทศสังคมนิยมแตกแยกเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายที่สนับสนุนสหภาพโซเวียตกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การบุกเชโกสโลวะเกียยังทำให้ชาวเช็กและสโลวักประมาณ ๗๐,๐๐๐ คนอพยพหนีออกนอกประเทศ ประมาณว่าเมื่อสหภาพโซเวียตและรัฐบาลเช็กชุดใหม่เข้าควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้และออกมาตรการห้ามการอพยพลี้ภัย จำนวนคนที่หนีออกนอกประเทศทั้งหมด มประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน

 หลังการควบคุมสถานการณ์ในกรุงปรากได้ สหภาพโซเวียตนำตัวดูบเชกและผู้นำหัวปฏิรูปของเชโกสโลวะเกียหลายคนไปกรุงมอสโกเพื่อไต่สวนและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาทางการเมือง ในการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้นำทั้ง ๒ ประเทศระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ สิงหาคม ดูบเชกถูกข่มขู่และบีบบังคับให้ยกเลิกนโยบายการปฏิรูปสหภาพโซเวียตยังขู่ว่าหากเชโกสโลวะเกียไม่ยุติกระบวนการปฏิรูปกองทัพโซเวียตจะบุกยึดแคว้นสโลวาเกียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและจะยังคงใช้กำลังทหารยึดและควบคุมแคว้นเช็กไว้ การข่มขู่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำให้ดูบเชกและประธานาธิบดีสวอบอดาซึ่งต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนยอมลงนามในความตกลงมอสโก (Moscow Agreement) หรือพิธีสารมอสโก (Moscow Protocol) เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ยุติการปฏิรูปและยอมให้กองทัพโซเวียตประจำการในประเทศ ทั้งให้พรรคคอมมิวนิสต์กลับมามีบทบาทในการชี้นำและปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง

 ในวันที่กองทัพโซเวียตบุกเชโกสโลวะเกีย เชาเชสกูผู้นำโรมาเนียซึ่งสนับสนุนนโยบายของดูบเชกกล่าวประณามปฏิบัติการทางทหารขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอและโจมตีนโยบายของสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรง แอลเบเนีย ก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอและโจมตีการบุกเชโกสโลวะเกียว่าเป็นปฏิบัติการของพวก “สังคมจักรวรรดินิยม” (social-imperialism) ในสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ปัญญาชนที่ต่อต้านการบุกเชโกสโลวะเกียชุมนุมรวมตัวกันที่จัตุรัสแดงและถือป้ายต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของโซเวียต กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถูกกวาดล้างและจับกุมด้วยข้อกล่าวหา “ต่อต้านโซเวียต” ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และพรรคคอมมิวนิสต์ฟินแลนด์ก็ออกแถลงการณ์โจมตีการบุกครั้งนี้ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ปารากวัย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* จัดประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการบุกเชโกสโลวะเกีย หลายประเทศเสนอแนะให้มีมติประณามการบุกและให้กองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอถอนกำลังออก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ผู้แทนเชโกสโลวะเกียคนใหม่ในองค์การสหประชาชาติได้ขอให้ถอนเรื่องออกจากวาระการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคง

 หลังการลงนามในความตกลงมอสโก ดูบเชกและแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปเดินทางกลับกรุงปรากและเริ่มดำเนินการยกเลิกนโยบายปฏิรูปด้วยการยุบองค์การอิสระต่าง ๆ และนำมาตรการควบคุมทางสังคมกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป กองทัพโซเวียตประกาศจะยังคงประจำการในเชโกสโลวะเกียจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ “ภาวะปรกติ” ในช่วง ๑ สัปดาห์หลังการบุก การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชนอย่างสันติวิธียังคงดำเนินต่อไปหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสถานีโทรทัศน์ยังคงเผยแพร่ข่าวสารจนถึงช่วงเวลาที่ระบบเซนเซอร์ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเด็ดขาดในวันที่ ๒๘ สิงหาคม กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีมติให้หยุดผลิตหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเพื่อประท้วงการเข้าควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องให้ดูบเชกใช้นโยบายควบคุมสื่อต่าง ๆ อย่างผ่อนคลาย แต่พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตตอบโต้ด้วยการประกาศใช้กฎหมายเซนเซอร์ฉบับใหม่ในต้นเดือนกันยายนและห้ามสื่อต่าง ๆ แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับสหภาพโซเวียตรวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงมอสโก

 แม้บรรยากาศเสรีและการปฏิรูปของเชโกสโลวะเกียจะสิ้นสุดลง แต่กระแสการต่อต้านสหภาพโซเวียตยังคงดำเนินต่อไปอีกเกือบปี การต่อต้านสหภาพโซเวียตอย่างเปิดเผยและจริงจังปรากฏให้เห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ซึ่งเป็นวันชาติ และในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ปัญญาชนและประชาชนจะชุมนุมรวมตัวกันอย่างสงบและเคลื่อนขบวนถือป้ายประท้วงต่อต้านสหภาพโซเวียตไปตามถนนสายสำคัญ และเมื่อเจอกับรถถังและทหารโซเวียตก็จะมอบดอกไม้ให้ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน นักศึกษาชุมนุมประท้วงอย่างสันติติดต่อกัน ๓ วัน และได้รับการสนับสนุนจากขบวนการกรรมกรซึ่งนำอาหารมาให้และมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินนโยบายปฏิรูป ให้เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและอื่น ๆ การต่อต้านที่รุนแรงและเป็นข่าวใหญ่ทั่วยุโรปและทั่วโลกเกิดขึ้นในวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๙ เมื่อยาน พาสัค (Jan Palach) นักศึกษามหาวิทยาลัยชาร์ลจุดไฟเผาตนเองที่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบริเวณจัตุรัสเวนเซสลัส (Wenceslas Square) ใจกลางกรุงปรากพาลัคเสียชีวิตในอีก ๓ วันต่อมา และมีการจัดพิธีศพในวันที่ ๒๕ มกราคมอย่างยิ่งใหญ่โดยมีประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน เข้าร่วม ประธานาธิบดีสวอบอดากล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสัญญาที่จะพยายามดำเนินการปกครองให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ทั้งเน้นยํ้าว่าทั้งเขาและดูบเชกไม่ต้องการอยู่ในอำนาจหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ต่อมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ยาน ซาจิตซ์ (Jan Zajíc) นักศึกษามหาวิทยาลัยชาร์ลอีกคนหนึ่งก็เดินตามรอยยาน พาลัคด้วยการเผาตนเองบริเวณจัตุรัสเวนเซสลัสและเสียชีวิตทันที เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีการขานรับจากผู้นำประเทศซึ่งทำให้เข้าใจกันทั่วไปว่าทั้งสวอบอดาและดูบเชกถูกกดดันจากสหภาพโซเวียตให้ลดบทบาทลง

 ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๖๙ มีข่าวลือทั่วไปว่าสภาพโซเวียตซึ่งไม่พอใจการดำเนินนโยบายการกลับสู่ภาวะปรกติที่เป็นไปอย่างล่าข้ากำลังรอโอกาสที่หากมีการชุมนุมเคลื่อนไหวอีกก็จะใช้เป็นข้ออ้างกล่าวโทษพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวักที่ไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมประชาชนและเข้าแทรกแซง ข่าวลือดังกล่าวสร้างความอึมครีมและตึงเครียดในสังคม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ในการแข่งขันกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งโลก (Ice Hockey World Championship) ที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดน เมื่อวันที่ ๒๑ และ ๒๘ มีนาคม ทีมฮอกกี้เช็กสามารถเอาชนะทีมฮอกกี้โซเวียตได้ทั้ง ๒ รอบ ชัยชนะดังกล่าวสร้างความยินดีปรีดาให้แก่ชาวเช็กและสโลวักทั่วประเทศ และนำไปสู่การเฉลิมฉลองใหญ่รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียตด้วยในกรุงปรากประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ร้องเพลงและตะโกนโห่ร้องไปตามท้องถนนและบ้างใช้ก้อนหิน และสิ่งของที่หาได้ปาใส่ที่ทำการสายการบินแอโรฟล็อต (Aeroflot) ของโซเวียตบริเวณจัตุรัสเวนเซสลัส รวมทั้งอาคารสถานที่ของสหภาพโซเวียต ตำรวจต้องเข้ามาควบคุมและสลายการชุมนุม รัฐบาลเช็กกล่าวประณามการกระทำเยี่ยงอันธพาลของผู้ชุมนุมและขอโทษอย่างเป็นทางการต่อสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตตอบโต้ด้วยการกดดันให้ปลดดูบเชกออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคในเดือนเมษายน และกุสตาฟ ฮูซากซึ่งโอนอ่อนต่อสหภาพโซเวียตได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสืบแทนต่อมาในเดือนพฤษภาคม ดูบเชกและกลุ่มหัวปฏิรูปที่สนับสนุนเขาอีก ๕ คนถูกปลดออกจากคณะกรรมการกลางพรรค ดูบเชกถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำตุรกีและหลังพ้นตำแหน่งถูกส่งไปเป็นข้าราชการระดับล่างในกรมอุทยานแห่งชาติที่เมืองบราติสลาวา ทั้งห้ามติดต่อกับชาวต่างชาติ เขาจึงหมดบทบาททางการเมืองและหายเงียบไปจากสังคมช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 แม้ฮูซากจะเคยนิยมกระบวนการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมาก่อน แต่ก็ตระหนักว่าการเปิดกว้างด้านเสรีภาพที่มากเกินไปโดยปราศจากการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมีส่วนทำลายเสถียรภาพของพรรคและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม เขาจึงเริ่มปกครองประเทศอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งและดำเนินการกวาดล้างและลงโทษสมาชิกพรรคแนวเสรีนิยมและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสมัยดูบเชกเป็นจำนวนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ปัญญาชนหัวกะทิในสาขาอาชีพต่าง ๆ จำนวนมากถูกตัดสิทธิทางสังคมและปลดออกจากงานและถูกส่งไปทำงานใช้แรงงานตามชนบทและโรงงาน กระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนเริ่มอ่อนตัว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๑ ปีของการบุกเชโกส โลวะเกีย ปัญญาชนที่เป็นสมาชิกสหภาพนักเขียนซึ่งรวมทั้งวาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* และประชาชนได้รวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและให้ยกเลิกการใช้ระบบเซนเซอร์และอื่น ๆ รัฐบาลดำเนินการกวาดล้างอย่างรุนแรงและเด็ดขาด ความพ่ายแพ้ของการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านครั้งนี้จึงนับเป็นการสิ้นสุดช่วงสมัยฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปรากอย่างเป็นทางการ สหภาพโซเวียตสดุดียกย่องฮูซากเป็นวีรชนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกียและมอบอิสริยาภรณ์เลนิน (Order of Lenin) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๖๙

 ผลสำคัญของการบุกเชโกสโลวะเกียคือ พรรคคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันตกเริ่มหมดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อสหภาพโซเวียตในฐานะประเทศผู้นำของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนจึงเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียตและดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตทั้งปฏิเสธอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มของยูโรคอมมิวนิสต์ (Euro-communism)* ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ แม้หลักการเบรจเนฟที่สหภาพโซเวียตประกาศใช้หลังเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปรากจะทำให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกตกอยู่ใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียตและมีอธิปไตยจำกัด แต่ก็จุดเชื้อไฟความไม่พอใจให้ลุกลามทีละน้อยจนขยายตัวรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ซึ่งทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายและม่านเหล็ก (Iron Curtain)* พังทลายลง ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปรากจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของโลกสังคมนิยมและเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของระบอบคอมมิวนิสต์ใน ยุโรปในเวลาต่อมา.



คำตั้ง
Prague Spring
คำเทียบ
ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- โกลด์สตุกเกอร์, เอดูอาร์ด
- ความตกลงมอสโก
- คาดาร์, ยานอช
- คำประกาศบราติสลาวา
- เคจีบี
- เครือจักรภพ
- โคซีกิน, อะเล็กเซย์
- จดหมายจากวอร์ซอ
- จิฟคอฟ, โทดอร์
- เชโกสโลวะเกีย
- เชาเชสกู, นิโคไล
- ซาจิตซ์, ยาน
- ดูบเชก, อะเล็กซานเดอร์
- ตีโต
- นอจ, อิมเร
- นอวอตนี, อันโตนิน
- บัลแกเรีย
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- โบฮีเมีย
- ปฏิบัติการดานูบ
- แผนปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
- พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย
- พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเอกภาพสังคมนิยม
- พวกปฏิกิริยา
- พาลัค, ยาน
- พิธีสารมอสโก
- ม่านเหล็ก
- ยูโกสลาเวีย
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์
- รัฐบริวารโซเวียต
- โรมาเนีย
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- ลัทธิสากลนิยม
- วาคูลิก, ลุดวิก
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สลันสกี, รูดอล์ฟ
- สโลวาเกีย
- สวอบอดา, ลุดวิก
- สหประชาชาติ
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- หลักการเบรจเนฟ
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- อันโดรปอฟ, ยูรี
- ฮูซาก, กุสตาฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-